วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สถานที่ท่องเที่ยว"หมู่เกาะสุรินทร์"


                   หมู่เกาะสุรินทร์

 การเตรียมตัว  1.เตรียมเสื้อผ้าสบายๆ แห้งง่าย หรือมีผ้าคลุมบังแดดด้วยก็ดีครับเวลาโดนแดด ส่องด้านข้างเรือจะได้ไม่ร้อน เเต่เรือหางยาวมีหลังคาอย่างดีครับ ชุดว่ายน้ำสำหรับทั้งชายและหญิง ใส่ไว้ข้างใน หรือชุดที่เราใส่ดำน้ำแล้วเรารู้สึกสบายตัวคล่องตัวที่สุด เพื่อให้สะดวกในการดำน้ำ และตากแห้งง่ายเพื่อใช้ใน Trip ต่อไปได้ เสื้อที่ใช้ดำน้ำควรจะเป็นแขนยาวจะดีมากครับ
*** กระเป๋าที่ใช้ในการเดินทาง สำหรับทริปนี้ แนะนำว่าควรเป็น กระเป๋าแบบเป้ หรือแบบที่สะพายได้ นะครับ เพราะว่าจะสะดวกในการขนย้ายมากกว่า อีกอย่างอาจมีบางช่วง ( โดยเฉพาะบริเวณจุด 200 เมตร บนเกาะ) ที่เราต้องเดินเท้าไปพร้อมกับกระเป๋าเพื่อเข้าที่พัก หากเป็นกระเป๋าล้อลากจะไม่สะดวก เพราะว่าพื้นที่เดินนั้นจะไม่ใช่พื้นเรียบ อาจทำให้กระเป๋าใบเก๋ของเราชำรุดได้นะครับ แนะนำว่าควรเป็นแบบเป้จะดีที่สุดครับ 

2.ครีมกันแดด SPF 50 ขึ้นไป เพราะลอยตัวในน้ำนานคนที่ดำง่ายต้องเตรียมไปให้พอ (การทาครีมกันแดดนั้นห้ามทาบริเวณดวงตา ให้เว้นเอาไว้เพราะหากโดนน้ำทะเลจะทำให้เราแสบตาและจะทำให้ดำน้ำไม่สนุกครับ และหลังจากทาด้านหน้าเรียบร้อยแล้ว จุดที่เราควรจะต้องทาเป็นพิเศษคือ หลังคอ หลังหู หลังแขน หลังขา เพราะจุดต่างๆ เหล่านี้เป็นจุดที่จะต้องโดนแดดมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเวลาเราดำน้ำส่วนต่างๆ เหล่านี้จะต้องโดนแดดเต็มๆ ครับ ) 

3.รองเท้าแตะ หูหนีบ หรือรองเท้ารัดส้นพวก Kito , Adda ก็ได้ครับ 

4.หมวกกันแดด แว่นตากันแดด 

5.สน๊อคเกิ้ล ใครที่มีก็สามารถนำไปเองได้ครับ จะได้พอดีกับหน้าเราและรู้ใจเรา แต่ทางเพื่อนท่องเที่ยวก็จะเตรียมไว้ให้อยู่แล้วครับเป็นขนาดมาตรฐานครับสามารถปรับระดับได้ครับ 

6.หมอน+ผ้าห่ม +เบาะรองนอน เรามีให้ครับ 

7.ถุงกันน้ำสำหรับป้องกันอุปกรณ์ของมีค่าต่างๆ ของเรา 

8.ถุงสำหรับใส่ผ้าเปียกที่เราใช้แล้ว 

9.เชือกฟาง ติดตัวไปสัก 3-4 เมตร สำหรับทำราวตากผ้าครับ 
จุดที่เราจะลงเรือกันครับ ท่าเรือคุระบุรี จ.พังงา
10.กระเป๋าเดินทาง แนะนำว่าควรเป็น แบบเป้ ครับ เพราะจะสะดวกในการขนย้ายขึ้นลงเรือครับ และพวกถุงขนมต่างๆ ที่เราซื้อไปรับประทานที่เกาะ หากเป็นไปได้ควรแพคใส่ในกระเป๋า หรือว่าผูกมัดติดกับกระเป๋าของเราไว้ เพื่อเป็นการป้องการไม่ให้ของเราพลัดหลงไปกับของคณะอื่นครับ 

11.บนเกาะมีร็อคเกอร์ให้เช่าเก็บของมีค่าครับ ( ค่าบริการ 30 บาท *** แต่ว่าล๊อกเกอร์จะมีประมาณ 12 ช่องเท่านั้นเองนะครับ ส่วนใหญ่จะไม่เพียงพอกับนักท่องเที่ยว ทางที่ดีไม่ควรนำของมีค่าติดตัวไปเที่ยวเกินความจำเป็นครับ )

12.สำหรับคนที่รักการอ่านพกหนังสือไปอ่านเล่นขณะนั่งเรือไปเกาะก็ได้นะครับ ใช้เวลาในการเดินทางโดยเรือประมาณ 2.30 - 3 ชม. ครับ ( หากท่านใดชอบเมาเรือ ก่อนการเดินทางรบกวนช่วยแจ้งให้ทีมงานไกด์ทราบด้วยนะครับ จะได้ให้ทานยาแก้เมากันไว้ก่อนครับ)

13.ไฟฉาย สำหรับเข้าห้องน้ำ หรือเดินเล่นตอนกลางคืน ประมาณหลัง 22.30 น. ไฟฟ้าบนเกาะจะดับครับ ( ยกเว้นช่วงเทศกาลหรือคนเยอะๆ อุทยานอาจจะขยายเวลาปิดไฟออกไปจนถึงประมาณ 01.00 น. )

14.เตรียมแป้งเย็น ทาตัวสำหรับคนขี้ร้อน เช่น แป้งเย็นตรางูช่วยได้เยอะทีเดียวครับ จะเป็นพัดเล็กๆ สักอัน หรือพัดลมใส่ถ่านเล็กๆ ก็จะเยี่ยมเลยครับ บนเกาะอากาศช่วงหัวค่ำในเต้นท์ค่อนข้างร้อนนิดนึง แต่ดึกๆ ก็จะเริ่มเย็นบ้างครับ

15.เสื่อ ที่พับได้เอาไว้ปูนั่งเล่น ยามค่ำคืนหน้าชายหาดลมเย็นดีครับ ดึกๆ ค่อยเข้าไปนอนในเต้นท์ ( อุทยานมีผ้าใบให้เช่าเหมือนกันครับ ผืนละ 20 บาท แต่มีปริมาณไม่มากนะครับ )

16.ขนมคบเคี้ยวทานเล่น ที่เราชอบ แต่ร้านค้าบนเกาะก็มีขายนะครับ แต่ราคาอาจจะแพงกว่านิดหน่อยเนื่องจากอยู่ไกลฝั่ง ยกตัวอย่างนะครับ แอลกอฮอล์ที่เป็นป๋องๆ หน่ะ 35-50 บาท น้ำอัดลมกระป๋องละ 20 บาท จะเตรียมไปเองหรือจะไปซื้อที่เกาะตามสะดวกได้เลยครับ ส่วนน้ำแข็งบนเกาะมีขายครับ แต่เอาแน่เอานอนไม่ได้นะครับ บางวันก็มีบางวันก็หมดเพราะต้องรอเรือเสบียงมาส่งครับ แนะนำว่าเป็นแบบ On The Rock มะนาวบางๆ เกลือนิดหน่อยท่าจะดีกว่าครับ) อ้อ! บนเกาะยังมีของที่ระลึกจำพวกพวก โปสการ์ด ฯ รวมถึงเสื้อของอุทยานขายด้วยนะครับ ราคาประมาณ 180-200 บาท ( ที่หมู่บ้านมอแกนที่เราจะไปเที่ยวกันก็มีของที่ระลึกที่ชาวมอแกนทำเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวด้วยเช่นกันครับ ) 
17.กล้องถ่ายรูปพร้อมแบตสำรอง ซึ่งบนเกาะก็ยังสามารถ charge แบตได้ครับแต่ต้องไปยืนเฝ้ากันเองน๊า (จะ charge ได้ก็ต่อเมื่อหลัง 5-6 โมงเย็นไปแล้วครับไฟฟ้าถึงจะเริ่มปั่น) ถามเจ้าหน้าที่้ทุกคนได้ว่าจุดไหนสามารถ charge แบตได้บ้างครับ ส่วนใหญ่จุดเสียบจะอยู่บริเวณโรงอาหารครับ อ้อ!! ให้ดีควรเตรียมเต้าเสียบเล็กๆ (สำหรับเพิ่มช่อง) ติดไปด้วยสักอัน เพราะว่าหากคนเยอะ ปลั๊กสำหรับเสียบอาจมีไม่เพียงพอครับ

18.ล่าสุด! บนเกาะีสัญญานโทรศัพท์ระบบ GSM แ
ละ DTAC สามารถใช้งานไ้ด้แล้วครับ ส่วนสัญญาณระบบ True move ยังใช้ไม่ได้ครับ อ้อ! แต่ก็ยังมีีโทรศัพท์ระบบดาวเทียมเอาไว้ให้โทรได้นะครับ โดยใช้บัตรพินโฟน (บนเกาะมีบัตรพินโฟนขาย แต่ก็เอาแน่นอนไม่ได้ว่าจะหมดหรือเปล่านะครับ หากจำเป็นต้องโทรจริงๆ เตรียมไปจะสะดวกกว่านะครับ)
19.สำหรับคอกีฬาฟุตบอล ปกติแล้วทางอุทยานจะมีสัญญาณ UBC ถ่ายทอดให้ชมกันครับ ( แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อาจไม่แน่เสมอไปว่า ณ เวลาที่เราเดินทางไปนั้น ทางอุทยานจะยังคงมีสัญญาณ UBC หรือเปล่านะครับ )

20.ยาสำหรับโรคประจำตัวของแต่ละคน ( ห้ามลืม! นะครับ เพราะว่าเราอยู่เกาะที่ห่างไกลจากชายฝั่งมาก หากเกิดอะไรฉุกเฉินขึ้นจะไม่สะดวกครับ ) เพราะฉะนั้นเราควรเตรียมสุขภาพร่างกายให้เเข็งแรงจะได้ไม่ป่วยเวลาเที่ยวครับ
21. กระแสไฟฟ้าบนเกาะจะเริ่มปั่นเวลา 18.00  ถึงประมาณ 22.30 น. ใครที่ต้องการจะ Chart แบตเตอรี่มือถือ หรือว่ากล้องถ่ายรูปสามารถนำไป Chart ได้บริเวณร้านค้าสวัสดิการของทางอุทยาน แต่ว่าจะต้องเฝ้าสมบัติของแต่ละคนกันเองนะครับ ปลั๊กสำหรับเสียบค่อนข้างมีจำนวนน้อยต้องรอคิวกันครับ หรือท่านใดจะติดปลั๊กแยกสำหรับเพิ่มช่องเสียบเล็กๆ ไปสักอันนึงก็ได้นะครับ จะได้ไม่ต้องรอคิวกันครับ

22.กฏระเบียบการรับประทานอาหารเช้าของอุทยาน อาหารเช้าปกติบนเกาะจะเิ่ริ่มที่เวลา 07.30 น. และอาหารเย็นจะเริ่มที่ 18.30 น. ครับ และเมื่อรับประทานเสร็จแล้ว ทางอุทยานจะมีจุดสำหรับเก็บภาชนะ จาน ชาม ที่เราทานเสร็จเรียบร้อย ขอความร่วมมือให้นักท่องเที่ยวทุกคนช่วยกันนำภาชนะจานชามที่ทานเสร็จแล้ว ไปวางยังจุดที่ทางอุทยานจัดไว้ให้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ
**** ยกเว้น! ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ทริปของเพื่อนท่องเที่ยวอาจจะต้องทานอาหารบนเรือ ( บุพเฟ่ ) เนื่องจากหลีกเลี่ยงปริมาณนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลซึ่งมีค่อนข้างเยอะ และที่นั่งรับประทานอาหารของอุทยานมีไม่เพียงพอครับ 

23.ทุกครั้งที่ออกไปดำน้ำ รบกวนให้นักท่องเที่ยวปิดประตูหน้าต่างเต้นท์ให้เรียบร้อย เนื่องจากบนเกาะสุรินทร์ฝนอาจตกได้ทุกเวลาครับ เพื่อเป็นการป้องการไม่ให้ฝนสาดเข้าไปในเต้นท์ เพราะฉะนั้นเราปิดไว้ก่อนดีกว่าครับ

25.ส่วนใหญ่การเดินทางท่องเที่ยวของสมาชิกทุกคนจะเป็นลักษณะการมาจอยกรุ๊ปกัน ต่างคน ต่างมา เพราะฉะนั้นตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ที่เราลงเรือลำเดียวกัน ได้ใช้ชีวิตร่วมกันบนเกาะ ขอเพียงให้นักท่องเที่ยวทุกท่าน "เปิดใจ" เพื่อนใหม่ก็อยู่ใกล้ๆ ตัวเรานี่เองครับ มาช่วยกันเก็บความทรงจำที่ดีร่วมกันดีกว่าครับ
25.สุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือ...หัวใจที่รักและเข้าใจธรรมชาติ เนื่องจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์อยู่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่มาก ดังนั้น..สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
จึงมีบริการสำหรับนักท่องเที่ยวในระดับหนึ่งเท่านั้นครับ และหมู่เกาะสุรินทร์จะยังคงความสวยงามต่อไป หากพวกเราปฏิบัติตามกฏเกณฑ์แห่งท้องทะเลครับ


ดูรูปทริปที่ผ่านๆ มา ได้ที่นี่เลยครับ...:: ดำน้ำตื้นที่เกาะสุรินทร์อย่างไรให้สนุกและอนุรักษ ::
10 ข้อง่ายๆ ทุกคนที่ไปเที่ยวเกาะสุรินทร์ไม่ว่าใครก็ทำได้ครับ นอกจากจะได้เที่ยวสนุกปลอดภัยและยังได้ช่วยอนุรักษ์ด้วย หากช่วยๆ กัน เกาะนี้จะอยู่กับเราไปอีกนานเท่านานครับกิจกรรมสุดท๊อปฮิตติดอันดับเมื่อเพื่อนๆทั้งหลายได้ไปเยือนหมู่เกาะสุรินทร์ นั่นคือการดำน้ำตื้น หรือที่ฝรั่งเค้าเรียกว่า Snorkeling หรือ SkinDiving ตามแต่สะดวก ถ้าใครไปแล้วไปกินเหล้า เมาพับ ตื่นเที่ยงกลับบ่าย โดยไม่ได้ดูความงามของโลกใต้ท้องทะเล แบบนี้ถือว่ามาไม่ถึงครับ คนขี้เมาคนที่ถูกกล่าวอ้างอาจโงนเงนคอพับคออ่อนขึ้นมาเถียงว่า เงินตรู ตรูจ่าย เหล้าก็ซื้อเองยุ่งอะไรวะ เอิ๊ก! ผมคงไม่ยุ่งกับพี่หรอกครับ แต่ขวดเหล้าขวดโซดาก็ช่วยเก็บกวาดให้มันเรียบร้อยด้วยครับจะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ถ้าจะกรุณานำกลับไปทิ้งบนฝั่งด้วยจะดีมากเลย ขามาแบกกันมาได้เป็นลังๆ พอกลับก็ยัดใส่ถังขยะที่เกาะเสียจนล้น เห็นแล้วนึกว่าถังขยะหลังรัชดา ซ.4 ซะอีก เอาเป็นว่าเราผ่านขี้เมาคนนี้ไปก่อนดีกว่า เตรียมตัวไปดำน้ำกันดีกว่า

 1. เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม อุปกรณ์พื้นฐาน หน้ากาก ท่อหายใจ ชูชีพ บางคนชำนาญหน่อยก็ไม่ใส่ชูชีพ สวมฟิน ในกรณีไม่มีเป็นของตัวเอง ต้องไปเช่า เริ่มจากตราวสอบอุปกรณ์ง่ายๆด้วยตนเองก่อนครับ
- หน้ากาก ลองเสยผมก้มหน้าเอามาทาบสวมดู แล้วหายใจเข้า ปล่อยมือ หน้ากากที่กระชับพอดีกับใบหน้าเราจะติดอยู่กับหน้าเลย ไม่หล่นพื้น หากไม่รู้สึกว่ามีอากาศเล็ดลอดเข้ามาได้ก็ โอเคล่ะ
-  ท่อหายใจ ลองดูที่ปากคาบว่า ขาดหรือชำรุดหรือไม่ แล้วลองหายใจเข้าออก ว่าติดขัดหรือไม่อย่างไร จะได้แจ้งให้สตาฟฟ์เปลี่ยนให้ได้
-  ชูชีพ ขยับสายรัดต่างๆให้พอดีตัว สามารถให้สตาฟฟ์หรือเพื่อนข้างๆช่วยขยับให้ได้ครับ
 2. นั่งเรือหางยาว เรือที่เกาะบางลำ ยังไม่มีหลังคา ควรเตรียมอุปกรณ์บังแดดไปด้วย ผ้าผืน ที่บังแดดรถยนต์ ฟินใช้ได้หมด ถ้าใช้ร่ม จะดูไฮโซแต่อาจปลิวหายตกทะเลไปได้ เวลาเรือจะจอดเทียบกันไม่ว่าจะที่ทุ่น หรือที่ท่าเรือ อย่าจับกาบเรือครับ นั่งพับเพียบเรียบร้อยๆในเรือจนกว่าจะจอดนิ่งดีที่สุด ไม่เช่นนั้นอาจโดนเรือหนีบได้ ไม่เลือดตกยางออกก็เจ็บระบมครับ หากใครรู้ตัวว่าเมาเรือง่ายก็ให้ทานยาแก้เมาล่วงหน้ามาก่อนขึ้นเรือนะครับ พวกของเปรี้ยวก็ช่วยได้ ถ้าใครเมาแล้ว ก็ลองมองไปที่ไกลๆพักสายตาดู หรือจะนอนแบตฯ หมดบนเรือก็ตามสะดวก แต่ถ้าอยู่บนเรือมันเมานัก ให้โดดลงน้ำเลยเย็นสบายหายเมาแล้วค่อยขึ้นมาเมาต่อ ฮะฮ่า
 3. ก่อนลงน้ำ สวมหน้ากาก คาบท่อหายใจให้เรียบร้อย หลายคนพอลงน้ำปุ๊บ หน้ากากหล่นมั่ง ท่อหล่นมั่ง หากไม่เจอผู้ชายหน้าตาดีจิตใจงามไปงมให้แล้ว อาจต้องเสียตังค์ค่าอุปกรณ์ฟรีๆ โดยไม่ได้ครอบครองอีกต่างหาก   ดื่มน้ำก่อนลงน้ำ ก็จะช่วยให้ไม่เพลียง่ายครับ เพราะน้ำนำพาความร้อนได้ดีกว่าอากาศ 20 เท่า เวลาเราไปดำน้ำจึงรู้สึกเหมือนเหนื่อย ซึ่งเป็นเพราะร่างกายเราสูญเสียความร้อนอย่างรวดเร็วมากกว่าเวลาอยู่บนบกนั่นเอง
 4. ฟังคำแนะนำของ จนท. และสต๊าฟฟ์ ถามจุดนัดหมาย ให้ว่ายไปได้ถึงแค่ไหน น้ำไหลไปทางไหน ว่ายขึ้นฝั่งได้ไหม ทั้งหมดเพื่อความปลอดภัยครับ
 5. เคารพเขาเราปลอดภัย โอกาสที่จะโดนสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลทำร้ายมีน้อยยิ่งกว่าโอกาสถูกรถชนเวลาข้ามถนนหน้าปากซอยอีก ถ้าเราไม่ไปรบกวน ไปจับ ไล่ต้อน จนเขาต้องป้องกันตัวเอง ทะเลนั้นซับซ้อนยิ่งนัก มีสิ่งมีชีวิตหลายพันหลายหมื่นชนิด ดีที่สุดคือ ดูแต่ตา มืออย่าต้อง ทำเหมือนกับเรามาเยี่ยมบ้านเขา ต้องให้ความเคารพเจ้าบ้านด้วยนะครับ
 6. อย่ายืนบนปะการัง นักท่องเที่ยวบางคนกลัวตายเกินเหตุ พอเห็นปะการังก้อนใหญ่ๆตื้นพอจะเหยียบได้ก็ไปยืนพัก สิ่งที่อยู่ใต้เท้าคุณคือปะการังเล็กๆหลายชีวิตรวมตัวกันสร้างก้อนปะการังใหญ่ใช้เวลาเป็นร้อยปีแต่กำลังตายเพราะมีคนไปเหยียบย่ำ หากเหนื่อย อย่าออกแรง อย่าตื่นตกใจ ค่อยๆตั้งตัวตรงหรือนอนหงายตัวช้าๆ ใส่ชูชีพไว้ยังไงมันก็ไม่จมหรอกครับ พอหายเหนื่อยก็ลองดูใหม่ หรือกลับขึ้นเรือไปพักก่อนก็ได้ครับ
 7. ไม่ให้อาหารปลา ปลาทะเลไม่ใช่ปลาทองในตู้ การให้อาหารปลาทะเลเหมือนเป็นการฆ่าทางอ้อม นอกจากจะไม่ได้บุญแล้วยังจะบาปอีกด้วย เพราะปลาที่มากินอาหารที่คนให้มีอยู่เพียง 2-3 ชนิดเท่านั้น เช่น ปลาสลิดหิน ปลานกแก้ว มีนิสัยก้าวร้าว เมื่อรวมฝูงกันมากๆเข้า ก็จะขับไล่ปลาสวยงามอื่นๆ ออกจากบริเวณนั้น เมื่อแนวปะการังขาดความสมดุล สุดท้ายก็กลายเป็นแนวปะการังเสื่อมโทรม เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว อย่าเอาแต่ความสุขส่วนตัวชั่วครู่ยามนะครับ
 8. หาเพื่อนไปด้วย พยายามไปเป็นคู่หรือไปเป็นกลุ่มๆ นอกจากจะปลอดภัยแล้ว เวลาใครเจอตัวอะไรประหลาดๆจะได้เรียกกันดูได้ ไปเจอคนเดียวเดี๋ยวคนอื่นหาว่าโม้ อย่างน้อยก็มีพยานบุคคล ช่วยๆกันมองหา สนุกดีครับ

 9. ไปช้าๆ จะได้เจอของดี ปล่อยตัวไหลไปตามกระแสน้ำ มองดูเหล่าสารพันสิ่งมีชีวิตในโลกสีคราม ว่ายลอดผ่านใต้ตัว สัตว์บางชนิด เช่นเต่า ต้องดูแบบเงียบๆ เข้าหาช้าๆ ถ้าเขาวางใจก็จะว่ายเข้ามาหาเราแบบไม่สนใจเลยด้วยซ้ำ หากต้องการเปลี่ยนทิศทางหรือไปให้เร็วขึ้น ให้ใช้มือแหวกน้ำช้าๆ เหมือนว่ายท่ากบ จะดีที่สุดสำหรับการดูปลาครับ เพราะไม่ทำให้ปลาตื่นตกใจ การตีขาตูมๆเหมือนจะไปว่ายแข่งชิงแชมป์โลก นอกจากปลาจะกระเจิง หนีหมดแล้ว ยังทำให้เหนื่อยมากขึ้นโดยไม่จำเป็นด้วย และอาจโดนคนอื่นมองด้วยสายตาอาฆาตแค้น เพราะดูปลาอยู่ดีๆ มีไอ่บ้ามาตีขาตูมๆ ปลา เต่า ตรูกำลังมองอยู่ดีๆ หายจ้อย
 10. เจอขยะก็ช่วยกันเก็บ บางครั้งเราอาจพบถุงพลาสติก หลอดกาแฟ ลอยผ่านหน้าไป ช่วยกันเก็บมานะครับ เคยมีเต่าเสียชีวิต เพราะกินถุงพลาสติกโดยเข้าใจว่าเป็นแมงกระพรุนที่เป็นอาหารของเขา เคยพบฉลามวาฬตายเกยหาด ผ่าท้องพบหลอดดูดพลาสติก ทิ่มแทงทางเดินอาหารเป็นแผล คาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิต ง่ายๆ แค่เก็บกลับมาเองครับ อาจได้กุศลถึงขั้นช่วยชีวิตเพื่อนร่วมโลกเลย


:: ข้อมูลหมู่เกาะสุรินทร 
ดูรูปทริปที่ผ่านๆ มา ได้ที่นี่เลยครับ...
 สภาพแวดล้อมหมู่เกาะสุรินทร์ 

 ในทะเลอันดามัน มีเกาะใหญ่น้อยอยู่มากมายกว่า 700 เกาะ ทอดยาวตั้งแต่ชายฝั่งแถบเมืองทวายในประเทศเมียนมาร์ ลงมาถึงเกาะลังกาวีในประเทศมาเลเซีย ในส่วนของประเทศไทย ชายฝั่งทะเลอันดามันมีชื่อเสียง ในเรื่องของโลกใต้น้ำที่สวยงาม
ในบริเวณจังหวัดพังงา ภูเก็ต และกระบี่มีเกาะหินปูนโผล่เหนือน้ำ บางเกาะปกคลุมไปด้วยป่าเขียวชอุ่ม และชายเกาะรายล้อมด้วย หาดทรายขาวสะอาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาเยี่ยมชม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวในภาคใต้ ของประเทศไทยจึงพัฒนา และเติบโตอย่างรวดเร็ว เกาะภูเก็ตได้กลายเป็นแหล่งรวม ของนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ
หมู่เกาะสุรินทร์อยู่ในตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ห่างจากชายฝั่งจังหวัดพังงา 60 กิโลเมตร อยู่ใกล้ชายแดนประเทศเมียนมาร์ เป็นที่หลบลมมรสุม สำหรับเรือหาปลาและเป็นที่ตั้ง ของหมู่บ้านมอแกน 2 แห่ง หมู่เกาะสุรินทร์มีป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าชายเลนบริเวณ ที่มีลำธารน้ำจืดไหลลงทะเล และมีหญ้าทะเลปกคลุมอยู่บางส่วน ความหลากหลายทางชีววิทยา ทำให้หมู่เกาะสุรินทร์เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ อย่างยิ่งในทางนิเวศวิทยา และกรมป่าไม้ได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2524 

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 135 ตารางกิโลเมตร โดยร้อยละ 76 เป็นทะเล ประกอบด้วย 5 เกาะ มีเกาะใหญ่ 2 เกาะ คือเกาะสุรินทร์เหนือ และเกาะสุรินทร์ใต้ และมีเกาะวางตัวอยู่รอบๆ อีก 3 เกาะ คือ เกาะไข่หรือเกาะตอรินลา  เกาะมังกรหรือเกาะปาจุมปา  เกาะสต๊อกหรือเกาะไฟแว๊ป รวม 5 เกาะ และยังมีกองหินโผล่พ้นน้ำอีก 2 กอง คือ หินแพ และหินกอง ชายฝั่งเกาะสุรินทร์มีความเว้าแหว่ง ทำให้มีอ่าวหลายแห่งซึ่งเป็นที่กำบังคลื่นลมได้ดี ระยะห่างจากฝั่งและระดับน้ำลึก โดยรอบเกาะทำให้น้ำทะเล ใสสะอาดเหมาะกับการเจริญเติบโต ของปะการังหลากหลายชนิด ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังทำให้มีปลาชนิดต่างๆ มากมาย บางครั้งยังพบวาฬและฉลามวาฬ ในน่านน้ำรอบเกาะอีกด้วย เต่าทะเล โดยเฉพาะเต่ากระและเต่าตนุขึ้นมาวางไข่ตามชายหาดของเกาะ 
ดูรูปทริปที่ผ่านมา..

จากยอดเกาะใหญ่ทั้งสอง คือ เกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้ มีป่าดิบชื้นที่มีต้นไม้หลายชนิด ถัดลงมามีป่าชายหาดและป่าโกงกาง บนเกาะมีสัตว์อาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 80 ชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่น กระจงเล็ก ลิงกัง ลิงแสม หนูท้องขาว ค้างคาวชนิดต่างๆ ฯลฯ สัตว์เลื้อยคลาน เช่น ตะกวด เหี้ย งูเหลือม งูพังกา ฯลฯ นกหลายชนิดทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพย้ายถิ่น รวมทั้งนกหายากเช่น นกชาปีไหน และเหยี่ยวเพเรกริน บริเวณเกาะสุรินทร์มีแหล่งน้ำจืดอยู่หลายแห่ง ส่วนใหญ่เป็นน้ำซับหรือทางน้ำเล็กๆ แหล่งน้ำจืดที่ใช้ภายในเขตอุทยานฯ มาจากเกาะสุรินทร์ใต้ โดยต่อท่อข้ามช่องขาดมายังฝั่งสำนักงานอุทยานฯ แต่หากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก น้ำจืดจากแหล่งดังกล่าวก็จะไม่พอใช้
ลมมรสุม มีอิทธิพลต่อสภาพแวดล้อมของเกาะอย่างยิ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้หรือฤดูฝน อยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ช่วงนี้เป็นช่วงที่คลื่นลมแรงยากแก่การเดินเรือ อุทยานฯ จึงปิดรับนักท่องเที่ยว ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือฤดูแล้งอยู่ในระหว่างเดือน พฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม เป็นฤดูที่อุทยานฯ เปิดรับนักท่องเที่ยว โดยมีบริการเรือระหว่างท่าเรือที่คุระบุรีและเกาะสุรินทร์เหนือ เรือธรรมดาใช้เวลาแล่นประมาณ 3-4 ชั่วโมง ส่วนเรือเร็วใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวที่มาเยือน หมู่เกาะสุรินทร์มีทั้งคนไทยและต่างชาติ

 ประวัติหมู่เกาะสุรินทร์ พระยาสุรินทราชา (นามเดิมนกยูง วิเศษกุล)

พระยาสุรินทราชา เทศาเมืองภูเก็ต (นามเดิมนกยูง วิเศษกุล) เป็นผู้ค้นพบเกาะและตั้งชื่อ หมู่เกาะสุรินทร์ เมื่อครั้งที่ท่านมาสำรวจ ทะเลฝั่งอันดามัน ที่ ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จนกระทั่งวันที่ 30 ธันวาคม 2514 กรมป่าไม้จึงได้ประกาศให้พื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์เป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในทะเลอันดามันและอยู่ติดชายแดนประเทศพม่า ห่างจากฝั่งทะเลด้านตะวันตกของไทยประมาณ 70 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี เกาะไข่ และเกาะกลาง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์มีเนื้อที่ประมาณ 84,375 ไร่ หรือ 135 ตารางกิโลเมตร
 ความเป็นมา : กรมป่าไม้ได้ประกาศป่าหมู่เกาะสุรินทร์ ท้องที่อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นป่าสงวนแห่งชาติเมื่อ 30 ธันวาคม 2514 ต่อมาคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าได้มีมติในที่ประชุมครั้งที่ 1/2519 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2519 เห็นชอบในหลักการที่จะกำหนดให้หมู่เกาะสุรินทร์เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งกรมป่าไม้ได้ติดต่อประสานงานไปยังกรมทรัพยากรธรณี ได้รับแจ้งว่า หมู่เกาะสุรินทร์อยู่ในเขตสัมปทานปิโตรเลี่ยม แปลงที่ ตก. 9 W1 ของบริษัท WEEKS PETROLEUM จึงขอให้ระงับการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไว้ก่อน และบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ยังเคยถูกเสนอให้ใช้เป็นค่ายญวนอพยพ แต่เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งบนบกและในทะเล ประกอบกับทิวทัศน์ธรรมชาติที่งดงาม เหมาะที่จะจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาหาความรู้ในด้านธรรมชาติ กรมป่าไม้จึงได้คัดค้านไม่เห็นด้วย
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้ดำเนินการสำรวจบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์อีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่า มีทิวทัศน์ทางทะเลที่สวยงาม มีปะการัง สภาพป่าที่สมบูรณ์ หาดทรายขาวสะอาด และนกนานาชนิด กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรกำหนดบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินหมู่เกาะสุรินทร์ ในท้องที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 112 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 29 ของประเทศไทย
 ลักษณะภูมิประเทศ 
หมู่เกาะสุรินทร์ มีสภาพที่กำบังคลื่นลมทั้งสองฤดู เนื่องจากเกาะวางตัวอยู่เป็นกลุ่มและมีอ่าวขนาดใหญ่ ทำให้เกิดแนวปะการังริมฝั่งอยู่รอบเกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ และเกาะบริวาร นอกเหนือจากการรับอิทธิพลจากคลื่นลม สภาพแวดล้อมทางสมุทรศาสตร์ของบริเวณหมู่เกาะเหล่านี้อเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการพัฒนาของแนวปะการัง คือ น้ำใส อุณหภูมิพอเหมาะ และมีการผสมผสานของน้ำที่ได้รับสารอาหารจากมวลน้ำเบื้องล่างที่ปะทะเกาะ ความอุดมสมบูรณ์ของแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นอาหารสำหรับปลาและสัตว์อื่นๆ ปัจจัยทางสมุทรศาสตร์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ลักษณะของน้ำขึ้นน้ำลงในทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นแบบ Semidiurnal คือ น้ำขึ้นและน้ำลงอย่างละ 2 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง และความแตกต่างระหว่างน้ำขึ้นสูงสุดและต่ำสุดอาจถึง 3 เมตร ทำให้มีกระแสน้ำเลียบฝั่งค่อนข้างแรง

เกาะสุรินทร์เหนือ และเกาะสุรินทร์ใต ตั้งอยู่ชิดกันคล้ายเกาะแฝด โดยมีพื้นน้ำตื้นๆ กว้างประมาณ 200 เมตร กั้นอยู่ ในช่วงน้ำลงสามารถข้ามไปยังอีกเกาะได้ เรียกว่า อ่าวช่องขาด ส่วนเกาะขนาดเล็กอีกสามเกาะเป็นเกาะหินที่มีต้นไม้แคระแกร็นขึ้นอยู่ไม่หนาแน่นนัก พืชพรรณที่พบเป็นพืชป่าดิบชื้น เป็นแหล่งกำเนิดของแนวปะการังน้ำตื้นขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย


 ลักษณะภูมิอากาศ 
สามารถแบ่งฤดูกาลออกได้เป็น 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ปริมาณฝนเฉลี่ยในแต่ละปีจะมีค่ามากกว่า 3,000 มิลลิเมตร ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 83 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูฝนเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากจะทำให้ฝนตกหนักแล้ว ท้องทะเลยังมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ในช่วงนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ทางอุทยานแห่งชาติจึงกำหนดปิด-เปิดฤดูการท่องเที่ยวประจำปี ดังนี้ 

ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ .16 พ.ค. - 14 พ.ย. ของทุกปี
เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. - 15 พ.ค. ของทุกปี 



 พืชพรรณและสัตว์ป่า 
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีป่า สัตว์ป่า และสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ดังนี้
ป่าดงดิบ เป็นป่าที่มีพื้นที่มากที่สุด มีอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยพรรณไม้หลายชนิด เช่น คอแลน มะยง เท้าแสนปม กระเบากลัก ลำป้าง มะพลับ ลักเคยลักเกลือ ดำตะโก พลับเขา เลือดแรด หันช้าง สลอดป่า หงอกค่าง พระเจ้าห้าพระองค์ ยางยูฆ ยางปาย สะเดาปัก ตะพง มะเม่าดง มะส้าน อ้ายบ่าว มะกล่ำต้น แตงชั่ง มะเม่าสาย นกนอน ลิ้นควาย กระบาก ไทร กร่าง ไม้หอม แกงเลียงใหญ่ มะเม่าดง ตะขบควาย นวล มูกเขา และลังค้าว นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้ชนิดอื่นๆ อีก คือ ปาล์ม ได้แก่ เต่าร้างแดง ช้างไห้ หวาย ไม้พุ่ม ได้แก่ แม่กลอน เต้ยชะครู จันทร์คันนา คัดเค้าทอง ไม้เถาเลื้อย ได้แก่ เถาปลอง แสลงพันเถา ลิ้นกวาง ขมัน เถานางรอง กร่าง ไม้พื้นล่าง ได้แก่ เข็มพระรามไม้ ผักยอดตอง คล้า ว่านสากเหล็ก กูดง้อง เตยหนู กูดปรง และร๊อก เป็นต้น

ป่าชายหาด ประกอบด้วย โพกริ่ง กระทิง ตีนเป็ดทะเล สนทะเล จิกเล ปอทะเล โกงกางหูช้าง คันทรง ขาเปี๋ย สำมะงา รักทะเล ปรงทะเล ลำเจียก หญ้าไหวทาม เป็นต้น
ป่าชายเลน ประกอบด้วย โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก โกงกางหัวสุม ตะบูน ลำแพนหิน ตีนเป็ดทะเล และพืชอิงอาศัยพวกกระแตไต่ไม้และกล้วยไม้บางชนิด
จากสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์นี้จึงเป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะนกซึ่งพบมากกว่า 80 ชนิด ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เช่น นกขุนทอง นกลุมพูขาว นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกชาปีไหนซึ่งเป็นนกที่หายาก และหากเดินไปตามชายทะเลจะพบนกยางทะเล นกนางนวล เหยี่ยวแดง บินเหนือท้องทะเลเพื่อล่าปลาเป็นอาหาร ภายในป่าจะพบลิงกังอยู่เป็นฝูงใหญ่ เกาะรอก กระจง ตะกวด งูหลาม ค้างคาวแม่ไก่ และค้างคาวหนูผี
 สิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง แนวปะการังที่พบทั่วไปที่หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นแนวปะการังริมฝั่ง หรือที่เรียกกันว่า fringing reef ปะการังที่พบได้มากได้แก่ ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังเขากวาง ปะการังโขดหรือปะการังนิ้วมือ ปะการังดอกเห็ด ปะการังกาแล็กซี่ ปะการังแผ่นเปลวไฟหรือปะการังดอกจอก ปะการังสมอง ปะการังจาน ปะการังไฟ ดอกไม้ทะเล ปะการังอ่อน กัลปังหา และปากกาทะเล เป็นต้น นอกจากปะการังแข็งที่พบเห็นโดยทั่วไปแล้ว ยังพบหญ้าทะเลในบริเวณอ่าวของหมู่เกาะสุรินทร์ 3 ชนิด ได้แก่ หญ้าเงาหรืออำพัน หญ้ากุ่ยช่ายเข็ม และหญ้าชะเงาเต่า นอกจากนี้ยังมี ฟองน้ำ หนอนทะเล กุ้งมังกร กุ้ง ปู หอย หมึก ดาวทะเล ดาวเปราะ ดาวขนนก เม่นทะเล ปลิงทะเลเพรียงหัวหอมและกลุ่มปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลาสลิดหิน ปลานกขุนทอง ปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร ปลานกแก้ว ปลากะรังและปลาทอง ปลาขี้ตังเป็ด ปลาสลิดทะเล ปลาผีเสื้อเทวรูป ปลาอมไข่ ปลาตั๊กแตนหิน ปลาบู่ ปลาสิงโต ปลากะรังหัวโขน ปลาหิน ปลากะพง ปลากล้วย ปลาสร้อยนกเขา ปลาทรายขาว ปลาหางแข็ง ปลาโมง ปลาสีกุน ปลาวัว ปลาปักเป้า นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งของสัตว์ทะเลหายาก เช่น ฉลามวาฬ วาฬ และเต่าทะเลซึ่งพบ 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ และเต่าหญ้า







:ข้อมูลการเดินทาง

 หากขับรถมาเอง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ตั้งอยู่ในเขตอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ถ้าไปทางรถยนต์จะต้อง ขับรถไปตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ อำเภอคุระบุรี ระยะทางประมาณ 720 กิโลเมตร ก่อนถึงอำเภอคุระบุรีประมาณ 6 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 721 มีทางแยกเลี้ยวเข้าท่าเรือคุระบุรี ประมาณ 2 กิโลเมตร จะมองเห็นป้ายอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์อยู่ทางขวามือ จากนั้นให้เลี้ยวเข้าไปจอดรถบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (บนฝั่ง)
นอกจากนี้ท่านยังสามารถเลือกวิธีเดินทางได้อีกหลายวิธี เช่น 


 เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง
เริ่มต้นจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ เวลาออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 19.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชม. ถึง อ.คุระบุรี เวลา 05.00 น. จากบริเวณสถานีขนส่งคุระบุรี จะมีบริการรถมอเตอร์ไซด์ และรถยนต์เช่าเหมาคันเดินทางไปส่งยังบริเวณท่าเรือคุระบุรี อันเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร สำหรับอัตราค่าโดยสารมีดังต่อไปนี้ คือ รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง 50 บาท/คน รถยนต์เช่าเหมา 200 บาท/คัน

สามารถสำรองตั๋วรถโดยสารปรับอากาศได้ที่ 
1. ลิกไนท์ทัวร์ 02-4355016 ,02-4357428
2. ภูเก็ตเซ็นทรัล 02-4355019
3. ภูเก็ตท่องเที่ยว 02-4355034
ราคาค่าโดยสารในฤดูการท่องเที่ยวปี 2551 ( ต่อท่าน/เที่ยว ) มีดังนี้...

รถทัวร์ 32 ที่นั่ง ขาไปราคา 643 บาท ขากลับราคา 645 บาท
รถทัวร์ 38 ที่นั่ง ขาไปราคา 551 บาท ขากลับราคา 555 บาท
** อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาวะเศรษฐกิจ

ส่วนขากลับนั้น รถทุกคันจะมาถึงยังจุดจอดรถคุระบุรี ประมาณ 18.15 น. ถึง 18.30 น. สามารถสำรองที่นั่งล่วงหน้าหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ จุดจอดรถคุระบุรี 076-491218

                                           
 การเดินทางโดย ทางเครื่องบิน
โดยสารเครื่องบินมาลงที่สนามบินจังหวัดระนอง หรือสนามบินจังหวัดภูเก็ต จากนั้นจึงค่อยเดินทางด้วยรถยนต์มายังอำเภอคุระบุรี ในจังหวัดพังงาต่อไป

1.สนามบิน จ.ระนอง
เป็นสายการบินภูเก็ตแอร์ ขึ้น-ลง วันละ 1 เที่ยวบิน ( ปัจจุบันสายการบินไทยไม่ค่อยลงที่นี่แล้ว ต้องเช็คอีกทีครับ) การเดินทางจากสนามบินระนองห่างจากคุระบุรีประมาณ 100 กม. มีรถประจำทางผ่าน หรือใช้บริการรถรับ-ส่ง ประมาณ1000-1,500 บาท/เที่ยว
Http://Www.Phuketairlines.Com/

2.สนามบิน จ.ภูเก็ต
เป็นสนามบินนานาชาติ มีหลายเที่ยวบิน นักท่องเที่ยวสามารถสำรองเที่ยวบินได้ตามความเหมาะสม อาทิ เช่น สายการบิน
Http://Www.Airasia.Com/
Http://Www.Nokair.Com/
Http://Www.Thaiair.Com/
การเดินทางจากสนามบินภูเก็ตห่างจากคุระบุรีประมาณ 200 กม. ต้องต่อรถรับจ้างออกจากสนามบินมาที่ถนนใหญ่ แล้วนั่งรถประจำทางไปลงคุระบุรี หรือใช้บริการรถเช่าราคาประมาณ 1,800 บาท/รถตู้ หรือประมาณ 1,500 บาท/รถเก๋ง

 จากนั้น..ก็จะมาเป็นเรื่องราวของการเดินทางโดยเรือ
เมื่อติดต่อกับทางอุทยานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะต้องนั่งเรือจากท่าเรือคุระบุรี ไปยังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อีกประมาณ 60 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.5 - 3.5 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเรือโดยสาร โดยมีบริการเรือทัวร์โดยสารของเอกชน ให้บริการนักท่องเที่ยว ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร โดยมีเรือให้เลือก 2 แบบ คือ เรือโดยสารทั่วไป (หรือเรือเมล์) และเรือเร็ว ( Speed Boat ) การบริการเรือทัวร์โดยสาร จะเปิดให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุด ไปจนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุมจึงจะปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยว

มีตารางการเดินเรือ
 ดังนี้ ( เวลาที่ใช้ในการเดินทางขึ้นอยู่กับความเร็วของเรือลำนั้นๆ )
ขาไป จากท่าเรือคุระบุรี เวลา 09.00 น. ของทุกวัน ถึงที่ทำการอุทยานฯ บนเกาะสุรินทร์เหนือ เวลาประมาณ 13.00 น.
ขากลับ จากที่ทำการอุทยานฯ บนเกาะสุรินทร์เหนือ เวลา 10.00 น. ของทุกวัน ถึงท่าเรือคุระบุรี เวลาประมาณ 14.00 น.


เรือเมล์โดยสารทั่วไป ชื่อเรือโชคสุวรรณ วิ่ง 2 ชั่วโมง 30 นาที
อัตราค่าโดยสารทางเรือ ( อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาวะเศรษฐกิจ)

เรือเมล์หรือเรือโดยสารทั่วไป
 
ค่าโดยสารไป-กลับ ประมาณ 1,300 บาท/คน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที
ขาไป เวลาเรือออกจากฝั่งคุระบุรี 09.00 น. ถึงหมู่เกาะสุรินทร์ 11.30 น
ขากลับ เวลาเรือออกจากหมู่เกาะสุรินทร์ 13.00 น. ถึงคุระบุรี 15.30 น.



Speed Boat ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชม.
เรือเร็ว ( Speed Boat )
ค่าโดยสารไป-กลับ ประมาณ 1,600 บาท/คน ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง
ขาไป เวลาเรือออกจากฝั่งคุระบุรี 08.30 น. ถึงหมู่เกาะสุรินทร์ 09.30 น.
ขากลับ เวลาเรือออกจากหมู่เกาะสุรินทร์ 14.00 น. ถึงคุระบุรี 15.30 น.

.......                                                    


การเดินทางออกไปดำน้ำตามจุดต่าง ๆ

รอบหมู่เกาะสุรินทร์ นักท่องเที่ยวที่ต้องการออกไปชมความงามของโลกใต้ทะเลของหมู่เกาะสุรินทร์ สามารถจองเรือสำหรับออกไปดำน้ำได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวได้ทั้งที่ อ่าวช่องขาด และ ที่อ่าวไม้งาม โดยเสียค่าใช้จ่ายวันละ 120 บาท ต่อคน ( ใน 1 วันจะแบ่งออกเป็นรอบเช้ากับรอบบ่าย ถ้าต้องการเฉพาะรอบเดียวก็จะเสียคนละ 80 บาท/คน/รอบ *** ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาอัพเดทราคากับทางอุทยานอีกทีนะครับ)
เรือหางนำำนักท่องเที่ยวชมปะการังแต่ละวันจะมี 2 รอบ มีรอบเช้าและรอบบ่าย
** นักท่องเที่ยวจะต้องติดต่อจองเรือที่จะออกไปดำน้ำวันต่อไป ในระหว่างเวลา 18.00 น. – 20.00 น.
รอบเช้า ชำระเงินเวลา 08.00 – 08.30 น. เรือออกเวลา 09.00 น. กลับเวลา 11.00 น.
รอบบ่าย ชำระเงินเวลา 13.00 – 13.30 น. เรือออกเวลา 14.00 น. กลับเวลา 16.00 น.

      
                        








ส่วนค่าเช่าอุปกรณ์ดำน้ำ
 
ทางอุทยานมีบริการให้เช่าอุปกรณ์ดำน้ำในราคาวันละ 150 บาท
มีชูชีพ - สน็อตเกิ้ลหรือสามารถแยกเช่าเป็นชิ้นได้ครึ่งวัน 80 บาท
หรือแยกชิ้นครึ่งวัน 40 บาท
ในแต่ละจุดที่เราพักอยู่ จะมีตารางการออกไปดำน้ำที่แตกต่างกัน ( ทั้งนี้ทั้งนั้น..วันจริงต้องดูสภาพคลื่นลมในแต่ละอ่าวด้วยว่าปลอดภัยหรือไม่ครับ) โดยจะมีรายละเอียดหลักๆ ในแต่ละโปรแกรมดังนี้
เรือหางที่ใช้ในการดำน้ำ
สำหรับท่านที่พัก...อ่าวไม้งาม 
มีให้เลือก 2 แบบ คือ

- 1 - 
เช้า ..... อ่าวแม่ยาย , หินแพ , อ่าวเต่า
บ่าย..... อ่าวจาก , เกาะสต๊อร์ค
- 2 -
เช้า ..... เกาะตอรินลา , อ่าวผักกาด
บ่าย ..... อ่าวสุเทพ , เกาะมังกร , อ่าวไม้งาม 




สำหรับท่านที่พัก...อ่าวช่องขาด 
มีให้เลือก 2 แบบ คือ
- 1 -
เช้า ..... อ่าวจาก , เกาะสต๊อร์ค
บ่าย ..... อ่าวแม่ยาย , หินแพ , อ่าวเต่า
- 2 -
เช้า ..... อ่าวสุเทพ , เกาะมังกร . อ่าวไม้งาม
บ่าย ..... เกาะตอรินลา , อ่าวผักกาด

สถานที่กางเต้นท์ที่หาดไม้งาม     ห้องน้ำที่หาดไม้งาม (แยกชายหญิง)     ห้องน้ำที่หาดไม้งาม (แยกชายหญิง)
ที่พัก ที่หมู่เกาะสุรินทร์แห่งนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ก็คือ 

1. ที่พักแบบเต้นท์ โดยจะมีให้เลือก 2 แบบคือ
เต็นท์ ขนาด 2 คน คืนละ 300 บาท
เต็นท์ ขนาด 3 คน คืนละ 450 บาท

ส่วนเครื่องนอน ประกอบไปด้วย ที่นอน หมอน และผ้าห่ม ราคาชุดละ 60 บาท ต่อคืน แต่ถ้านำเต็นท์ไปเองจะเสียค่ากางหลังละ 80 บาท ต่อ/คน - ต่อ/คืน
2. บ้านพัก
ท่านที่ต้องการบ้านพักจะต้องจองโดยตรงกับทางกรมอุทยานแห่งชาติ โทร.ฯ 02-5612919 , 02-5612921 ในราคา
หลังละ 2,000 บาท นอนได้ 2 คน ( แต่จะมีเฉพาะที่อ่าวช่องขาดเท่านั้น จำนวนทั้งหมด 18 หลัง ) และสำหรับกรณีที่มีผู้เข้าพักแรมในที่พักเกินจำนวนที่กำหนด
ต้องชำระค่าตอบแทนที่พักสำหรับจำนวนที่เกินอีก โดยไม่มีเครื่องนอนหรือของใช้อื่นๆเพิ่ม ดังนี้ ประเภทบ้านพัก ในอัตราคนละ 100 บาท /คน/คืน และ ประเภทค่ายพัก ในอัตราคนละ 50 บาท/คน/คืน


............บริการรับจองบ้านพักอุทยานแห่งชาติและโรงแรม - รีสอร์ทที่อยู่โดยรอบอุทยานแห่งชาติ   ........................บ้านพักทางการที่ตั้งในอุทยานฯ


.บ้านสินสมุทรจะตั้งอยู่บนไหล่เขา     บ้านสินสมุทร

     

ส่วนถ้าเป็นเต้นท์สามารถจองได้จากทางอุทยานฯ โดยตรง 
ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ต.เกาะพระทอง อ. คุระบุรี จ. พังงา 82150
โทรศัพท์ : 076-491378 , 076-491582
โทรสาร :076-491583   
E-mail : surin_np@yahoo.co.th
 
เมื่อติดต่อจองเรียบร้อยแล้วให้โอนเงินมาที่หมายเลขบัญชีของทางอุทยานฯ
ในนาม...อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ธ.กรุงไทย สาขาคุระบุรี บ.ออมทรัพย์ เลขที่ 825 – 1149 – 444

เมื่อโอนเงินเสร็จแล้วให้ FAX สลิปพร้อมชื่อผู้จองและวันที่เข้าพักมาที่เบอร์แฟกซ์ 076–491583 ( ให้นักท่องเที่ยวโอนเงินสำหรับค่าที่พักเต็นท์เท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้มาจ่ายที่เกาะได้เลย )
หมายเหตุ : ค่าธรรมเนียมอุทยาน.ฯ ( คนไทย ) คนละ 40 บาท /ต่างชาติ คนละ 200 บาท
ห้องน้ำ ทางอุทยานได้จัดห้องน้ำไว้สำหรับนักท่องเที่ยวเพียงพอต่อความต้องการทั้งห้องน้ำชาย
ห้องน้ำหญิง
น้ำที่ใช้อยู่บนเกาะสุรินทร์ก็ได้มาจากธรรมชาติสามารถสร้างความสะดวกได้พอสมควร ( นักท่องเที่ยวต้องช่วยกันประหยัดน้ำด้วยนะครับ )
การสำรองไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าเริ่มเปิดประมาณ 18.00 น. กระแสไฟฟ้าปิดประมาณ 22.30น
ระบบโทรศัพท์ สามารถติดต่อได้ตลอดเวลาเนื่องจากทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ได้ติดตั้ง เครื่องปั่นไฟเล็กสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าไว้รองรับระบบโทรศัพท์ได้ตลอดเวลา
( โทรศัพท์สามารถใช้ได้ในระบบ GSM เท่านั้นนะครับ )

อัตราค่าธรรมเนียมของอุทยาน
นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการจากร้านค้าสวัสดิการภายในบริเวณที่พักได้ โดยสามารถเลือกสั่งได้ตามความชอบ
ทั้งอาหารชุดที่ที่จัดเตรียมกันมาแบบเต็มอิ่ม หรือ 
สามารถสั่งอาหารตามสั่งได้ตามที่เมนูร้านสวัสดิการ

สำหรับอาหารชุดจะมีราคาดังนี้
ให้จองได้ที่เคาร์เตอร์ติดต่อสอบถาม
ราคาจะคิดเป็นชุดเริ่มจาก 2 ท่านขึ้นไปมี

- อาหารเช้า 80 บาท
- อาหารเที่ยง 170 บาท
- อาหารเย็น 200 บาท

..หน้าตาของอาหารชุด โรงอาหารบริเวณหาดไม้งาม

ร้านอาหารสวัสดิ์การ (อ่าวช่องขาด)

ร้านอาหารสวัสดิการ เปิดบริการ 07.30-20.30 น. ของทุกวัน
ในกรณีนักท่องเที่ยวที่จะจอง
อาหารชุดสามารถติดต่อได้ที่อาคารติดต่อสอบถาม

ร้านอาหารสวัสดิ์การ (หาดไม้งาม)

ร้านอาหารสวัสดิการ เปิดบริการ 07.30-20.30 น.ของทุกวัน ในกรณีที่นักท่องเที่ยวจะจอง

อาหารชุดสามารถจองได้ที่อาคารติดต่อสอบถาม
นอกจากนี้ จะมีขนม เครื่องดื่ม และของขบเคี้ยวอื่น ๆ ให้บริการด้วยท่านที่ต้องการจะซื้อของไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือขนมต่าง ๆ สามารถติดต่อขอซื้อคูปองได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในส่วนของอาหารชุด ทางเจ้าหน้าที่เค้าจะออกใบเสร็จที่ระบุมื้อของอาหารมาให้ ( สามารถจ่ายเงินเพียงครั้งเดียว ) เมื่อถึงเวลาที่ท่านมาทานอาหารก็เพียงแต่แสดงให้เจ้าหน้าที่ดูก็เป็นอันเรียบร้อยครับ

ข้อควรระวัง ทางอุทยานไม่อนุญาติให้นำเทียนไข หรือมีการก่อไฟย่างปลา ก่อไฟทุกประเทศบนเกาะ
ในเขตอุทยานเด็ดขาดครับ ขอความร่วมมือด้วยนะครับ




หมู่เกาะสุรินทร์
::::: ผลุบโผล่อารมณ์ดีที่..หมู่เกาะสุรินทร์ :::::
อ.คุระบุรี จ.พังงา
 ไปทะเลกันดีกว่า...
หนทางอันยาวไกล ไกลมากๆๆ แต่มักจะใกล้เมื่อใจเราแสวงหา ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณยี่สิบปีล่วงเลยมาแล้วเห็นจะได้ เคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมาท่องเที่ยวทะเลสวยๆ จะลงไปทะเลทั้งทีในยุคนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ตัวผมเองก็ยังดั้นด้นไปถึงจนได้ แล้วฉากแห่งความตื่นตาตื่นใจก็มาพบกับผู้เดินทางอย่างผม หาดทรายขาว ขาวจนเหลื่อมตา ทะเลใสสวย สวยจนชวนหลงใหล ฝูงปลาปะการังฟ้าคราม ยิ่งทำให้นึกในใจว่า...นี่คงเป็นเกาะแห่งความงดงามที่สุด จนอดจะพรรณนาไม่ได้ว่า...เธอคือผู้ที่มีสิริโฉมอันงดงามแห่งท้องทะเล ขาว บริสุทธิ์ ดุจดั่งไร้เดียงสายามแรกแย้ม ฉันซิ!! ส่วนเกิน ที่อยากจะหลอมรวมเป็นหนึ่งในส่วนของร่างเธอ เพียงแค่คิดความรู้สึกสุขสมใจก็เข้ามา 



มามะ!! มาไปทะเลกันดีกว่า...ที่พูด คิด นึกนั้น ไม่ใช่เธอที่ไหนนะครับ แต่เธอที่ว่าเป็นฟ้าสีคราม น้ำทะเลสีเขียวปนฟ้า หาดทรายขาวๆ ที่นอนทอดตัวเป็นแนวยาวอยู่ตรงเบื้องหน้า... ลมยังคงพัดผ่าน ริ้วคลื่น ยังคงพัดกระแทกเรือ เรือยังคงโครงเครงตามแรงคลื่น ผู้คนหลายคนยังคง อินเลิฟแอนด์โรแมนติก หลายคนยังคงผลุบโผล่อารมณ์ดีในท้องน้ำแห่งท้องทะเล…


ครับหลังจาก "เพื่อนท่องเที่ยว" ของเรา พาเราลงจากรถทัวร์ชั้นดีมาที่ท่าเรือคุระบุรี นั่งจิบกาแฟพร้อมทานอาหารเช้า ตอนเช้ามืดเพื่อรอขึ้นเรือ อันดามันปริ๊นเซท รีสอร์ท แอน์ดสปา ที่จะพาเราเหล่าเพื่อนท่องเที่ยวไปยังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
จน ณ เวลานี้... เริ่มจะใกล้ถึงเกาะเข้าไปทุกขณะ จากมุมมองหัวเรือที่นั่งมอง สายตาที่กวาดมองไปที่เกาะ ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับธรรมชาติที่ได้พบเห็น จนหลายคนอุทานออกเสียงดังแว่วมา...
งามครับ...สวยคะ...ครับ...คะ ยิ่งมองผ่านเลนส์ (lens) กล้อง ยิ่งยอดเยี่ยม พร้อมกับมือที่อยู่ไม่เป็นสุข เสียงชัตเตอร์ดังติอต่อกันหลายเฟรม ก่อนที่เรือจะจอดนิ่ง... ไม่นานเรือเล็กวิ่งฝ่าฟองคลื่นจากฝั่ง เข้ามาเทียบที่หัวเรือ และอีกไม่นานเราจะได้ไปพักผ่อน เล่นลม โต้คลื่น กับท้องทะเลสะอาดๆ หาดทรายขาวๆ


เมื่อลงจากเรือได้ไม่นาน เสียงผู้แนะนำที่หล่อ...เหลาเรียบร้อย (หนุ่ม/ต้น) ก็ดังเข้าใส่ในหูทั้งสองข้างไปเก็บความจำที่สมองว่า...
อาหาร สถานที่ ที่จองไว้ อยู่ทางด้านนี้นะครับ!  กินที่นี่นะครับ!   พักเต็นท์นี้นะครับ! แล้วก็พบกันจุดนี้นะครับ!





ถึงเวลากรุณา
...มาพร้อมอุปกรณ์ดำน้ำ ที่ทางเจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้ให้นะครับ แถมด้วยการสาธิตกันนิดหน่อย 
เอ๊าหายใจเข้าลึกๆ มือบีบจมูกหายใจเพื่อไล่ให้ลมออกหู ใครว่ายน้ำไม่เป็น ก็ทำมือประกบกันแบบนี้นะครับ แล้วโค้งตัวนิดหนึ่ง แล้วก็ (ไหว้) ว่าย กันเข้าไป (หัวเราะ) ไม่ใช่แบบนั้นครับ หมายถึงว่ายและดำน้ำ ใครที่ไม่เป็น... เสื้อชูชีพต้องใส่อยู่ที่ตัวตลอดนะครับ... (ขอบคุณที่แนะนำ)

ถึงเวลา..พวกเราต่างคนต่างดำผุดดำโผล่อยู่หลายวัน ( ดำน้ำแบบสน็อกเกิ้ล ) มีทั้งอาการมึนหัว เวียนหัว หนังผิวลอกจากแสงแดด สำหรับมือใหม่อย่างผมหนักกว่าคนอื่น คือ ได้ทำบุญให้อาหารปลาทะเลด้วย คือ มีอาการเมาทะเล...หน่ะสิครับ แล้วก็...เออ...อ๊วก...ครับ... ปล่อยลม... ปล่อยอาหาร... ออกจากท้องจนหมดจนค่อยๆ รู้สึกดีขึ้น เพราะนานๆ ที จะมีโอกาสมาเที่ยวซักครั้ง อาการแค่นี้อย่าหวังว่าจะหยุดผมได้ ก็แหม! โลกใต้ทะเลสวยยังกับสรวงสวรรค์ในแดนดิน แถมมีคนนำพาไปดูว่าอะไรอยู่ตรงไหน คนนำรู้ไปโหม๊ด (หมด) แถมอธิบายได้ตลอดเวลา 


เริ่ม..เสียงหล่อ..กันอีกครั้ง!!
ตรงจุดนี้นะครับเป็นปะการังที่ต้องอยู่น้ำตื่นๆ เพราะต้องการแสงจากแดด... เอาแล้วไงละ วิชาการเริ่มแล้ว ขอกรอเทปเร็วๆ นิดนะครับ อี๊ดๆๆๆๆๆๆ เอี๊ยก...ฟิ๊ว....หยุด...
เริ่มที่แนวปะการังกะหล่ำปลีมีแตนทะเลมาก ในท้องทะเลแห่งหมู่เกาะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่อย่างมาก เช่น ปลาไหลเมย์เรย์ ปลาการ์ตูน ปลาเก๋าแดง ปลานกแก้ว เต่ากะ ปะการังเขากวาง พอเลยไปนิด ปลาหมึกก็ว่ายมาเป็นฝูง ปลาเก๋าอีกชนิดก็มีมาให้ชิม (หัวเราะ) อ้อ! ไม่ใช่ มาให้ชมครับ ฉลามน้อยก็ยังแหวกว่ายมาให้เห็น แถมตามติดด้วยแมงกะพรุนตัวน้อยเป็นฝูงๆ (ยังกะยานอาวกาศเตรียมออกรบ) 


โผล่หัวพ้นผิวน้ำขึ้นมาพักผ่อน หัวก็ยังมึนๆ อยู่ เสียงก็แทรกเข้ามาในรูหู อีกว่า...
 เดี๋ยวพอดำน้ำชมแถบนี้จนหนำใจ วันพรุ่งนี้ผมจะพาไปชม ดอกไม้ทะเลสีเหลืองคล้ายขนนก กัลปังหาสีแดง ซึ่งอยู่ที่ระดับน้ำประมาณเสองเมตรเองครับ แต่วันนี้เราต้องกลับขึ้นบนเรือแล้วล่ะครับได้เวลากลับเกาะกันแล้ว เสียงเรือดังแต๊กๆๆ เคล้ากับเสียงคลื่นวิ่งกลับเข้าฝั่ง 





ทุกคนต่างมีริ้วรอยแห่งความสุข...ประดับติดอยู่บนใบหน้า บางคนมีรอยยิ้มที่มุมปาก บางคนจับคู่คุยกันจนถึงฝั่ง รอยยิ้มและเสียงที่พูดคุยกันเหล่านี้ บ่งบอกว่าประทับใจ พึงพอใจ กับสภาพทางขบวนการทางธรรมชาติอันงดงาม ถึงวันคืนร้ายๆ แห่ง สึ (ซึ)-นา-มิ ได้มาแล้วจากไป ได้ทำร้ายบางส่วนให้ขาดหายไป แต่ทุกคืนวัน ทุกค่ำคืน ประสบการณ์ทางธรรมชาติก็ยังพร้อมให้พวกเรา มาร่วมหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่ง เป็นบทหนึ่งแห่งความทรงจำที่เกิดขึ้นกับตัวเรา มุมสวยๆ ดีๆ ยังมีอีกมากมายครับ 




เส้นทางศึกษาธรรมชาติทั้ง 14 สถานี ระยะทาง 2 Km.
ความหลากหลายทางขบวนการทางธรรมชาติ
... ยังมีเส้นทางศึกษาระบบนิเวศ ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งอีกหลากหลายเส้นทาง เช่น เดินชมป่า พันธุ์พืชไม้นาๆ ชนิด นกสายพันธุ์ต่างๆ ในป่าและชายทะเล ตามแนวเส้นทางเดินที่เรียบไปกับหาดทรายขาวที่สวยงาม ระยะทางโดยประมาณ 2 กิโลเมตร ทางที่ไม่ค่อยจะมีการพัฒนา ขาดการปรับปรุง ขาดการดูแลเอาใจใส่ สะพานไม้ที่ผุพัง ยังพอเดินได้ตามสภาพ (ควรระวังในการก้าวเท้า) ครับ ถึงทางจะไม่ดี ีแต่เส้นทางแห่งนี้ก็ยังเป็นเส้นทางที่ให้ทั้ง ช่องขาดความรู้ ความสนุก ได้ออกกำลังกาย ได้สูดอากาศดีๆ เข้าปอด เส้นทางนี้..ยังมีนักท่องเที่ยวเหล่าเพื่อนเดินทางกว่าสี่สิบชีวิตที่เดินสำรวจ และใส่ใจศึกษาเส้นทาง ก่อนจะถึงที่ทำการหาดไม้งาม ท่านจะได้แวะชมสถานี ที่มีป้ายเขียนบอกไว้ถึง 14 สถานี เช่น 


สถานีที่ 1 อ่าวช่องขาด ท่านจะได้สัมผัสกับร่องน้ำที่ท่านมองเห็น เป็นช่องกั้นระหว่างเกาะเหนือใต้ ส่วนหาดทรายสีขาวที่เห็นนั้นในอดีตเคยเป็นที่ตั้งหมู่บ้านมอแกน เมื่อเวลาน้ำลงมากๆ เราสามารถเดินข้ามฟากไปยังริมหาดนั้นได้

สถานีที่ 2 หินแกรนิต เราจะพบกลุ่มหินแกรนิตขาดใหญ่ ที่เกิดจากการเย็นตัวของหินหนืดใต้ผิวโลก องค์ประกอบเนื้อหิน มีลักษณะหยาบ ทำให้มีผลึกขนาดใหญ่ ประกอบด้วยแร่ ควอร์ตซ์ (Quartz), เฟลด์สปา (Feldspa), โพแทสเซียม, แฟลจิโอเคลส, ไมก้า, ไบโอไทค์ และแอมฟิโบล

สถานีที่ 3 ต้นกร่าง จัดอยู่ในหมวดเดียวกับต้นไทร มีความสามารถพิเศษในการชอนไชรากไปตามซอกหิน ยึดติดบนโขดหินแทนดิน

สถานีที่ 4 ลักษณะชายฝั่งทะเล ทางด้านทะเลอันดามันส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการยุบตัวลง เมื่อเกิดการยุบตัวจึงเกิดเป็นเกาะแกร่ง

สถานีที่ 5 โกงกางหูช้าง เป็นพืชที่ขึ้นเฉพาะในป่าชายหาด

สถานีที่ 6 ต้นกระทิง ที่พื้นที่แห่งนี้ นักเที่ยวจะได้พบต้นกระทิงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นไม้ที่พบทั่วไปตามชายหาดและป่าบก ไม้พันธุ์นี้จุดเด่นอยู่ที่ดอก

สถานีที่ 7 ป่าชายหาด เกิดจากการที่พืชขึ้นปกคลุมดิน หรือเนินทรายบริเวณชายฝั่ง เช่นต้น รักทะเล หูกวาง จิกทะเล ผักบุ้งทะเล เตยทะเล เป็นต้น

ต้นไทร
สถานีที่ 8 พื้นที่ชุมน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นทางธารน้ำจืดที่ไหลลงทะเล หากเราเหล่าเพื่อนเดินทางเป็นนักสังเกต และเที่ยวอย่างมีความรอบรู้ เราจะพบกับสรรพชีวิตเล็กๆ อีกโลกหนึ่ง ในธารน้ำเล็ก เช่น ปลาตัวเล็ก ตัวอ่อนแมลงปอ ต้นบอล ต้นเต่าร้าง ต้นหวาย เป็นต้น ถึงแม้จะเป็นเพียงพื้นที่ชุ่มน้ำบนพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร แต่นี้แหละครับ ที่เป็นองค์ประกอบของระบบนิเวศ ที่มีความสำคัญอันยิ่งใหญ่ ที่สร้างความสมดุล ความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่ธรรมชาติ

สถานีที่ 9 พูพอน เป็นลักษณะการเรียกสรีระของลำต้นตับหลาม เป็นการช่วยพยุงลำต้นขนาดใหญ่ให้ยืนหยัดอยู่ได้ในธรรมชาติ โดยไม่โคนล้มกับ สภาพของพื้นที่ที่เป็นทราย

สถานีที่ 10 ป่าชายเลน เป็นพื้นที่ที่ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด เช่น ไม้สกุลโกงกาง เนื่องจากพื้นที่มีความผันแปรทางระดับน้ำทะเล ทำให้ป่ามีลักษณะพิเศษ เช่น มีต่อมขับเกลือที่ใบ ใบหนา ใบอวบน้ำ มีระบบรากที่แผ่กว้างช่วยค้ำพยุงลำต้น 


สถานีที่ 11 หวาย อยู่ในตระกูลต้นปาล์ม มีหนามแหลมคม ประโยชน์ทำเครื่องครัวเรือนจักสาร มีขึ้นอยู่ทั่วไปบนเกาะ ชาวมอแกนใช้หวายเหลาเป็นเส้นเชือก เพื่อเย็บใบเตยมุ่งหลังคาเรือ รวมถึงในการนำหวายมาผูกเสาและคาน

สถานีที่ 12 ไทร เป็นพืชที่ออกผลทีละครั้งมากๆ เหมาะสำหรับมาเฝ้าดูนก และ ลิงกัง ที่มากินผลของลูกไทร รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นๆ ก็มาที่ต้นแห่งนี้ เช่น กระรอก นกลุมพู นกเขาเปล้า นกขุนทอง ในฤดูแล้งแม้ผลไม้ป่าชนิดอื่นไม่ผลิตผล แต่ไทรก็เป็นผลผลิตที่พอเพียงกับสัตว์ในพื้นที่

สถานีที่ 13 เฟิร์น มักเกาะอยู่ตามคาคบไม้ใหญ่ จัดเป็นผู้เกาะอาศัยหรือไม้อากาศ ถ้ามองถัดไปไม่ไกลเราจะพบเห็น กล้วยไม้สายพันธุ์ต่างอยู่ด้วย

สถานีที่ 14 กะพ้อแดง มักขึ้นบริเวณที่มีความชื้น และน้ำขัง มักขึ้นรวมเป็นกลุ่มใหญ่ เป็นที่อาศัยของสัตว์บางชนิด เช่น นกกวัก ตัวสะเทินน้ำสะเทินบก ปลาตัวเล็กๆ ชาวมอแกน ใช่กินยอดอ่อน เมื่อดิบ มีรสขม นำมาต้ม ย่างจะทำให้รสขมจางลง



หลังจากเราเดินเที่ยวชมป่าบนเกาะแห่งนี้จนครบทุกสถานีแล้ว
พวกเราก็กลับเข้าสู่แค้มป์ของเรา พักผ่อนต่ออีกหนึ่งคืน รุ่งเช้าวันใหม่แสงแดดยังสดใส ฟ้ายังสีคราม ผู้คนหลายคนยังใส่ ทูพีช และวันพีช ส่วนกลุ่มเราจะไปชมการนุ่งกระโจมอก (หัวเราะ) คณะของเราออกไปเที่ยวที่หมู่บ้านชาวมอแกน





หมู่บ้านชาวมอแกน ที่ย้ายใหม่ไปอยู่อีกฟากฝั่งของเกาะ ชาวเลหรือมอแกนในที่แห่งนี้มีประมาณ 200 คน เป็นชนเผ่าที่มีวิถีการดำรงชีวิตแบบดั่งเดิม แต่การแต่งตัวในปัจจุบันของบางคนเปลี่ยนไปในคนรุ่นใหม่ เด็กๆ ชาวมอแกน คุ้นเคย เล่นอยู่กับทะเล หาเลี้ยงชีพโดยการแทงปลา งมหอย บางคนพูดภาษายาวีหรือภาษาไทย ไม่มีภาษาเขียน เชื่อในเรื่องภูตผี วิญญาณบรรพบุรุษ ในเดือนเมษายนจะมารวมตัวกันเพื่อประกอบพิธี ลอยเรือ บวงสรวงผีวิญญาณบรรพบุรุษ อีกทั้งเป็นการสะเดาะเคราะห์ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อยู่กับทะเลอย่างสะดวกปลอดภัย แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง ถือได้ว่าชนเผ่ามอแกน เป็นชนเผ่าที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีคั่งเดิมไว้ได้มากที่สุด แห่งลุ่มท้องทะเล


ท้องทะเลยามนี้...
 ยังคงเป็นท้องทะเลที่สงบและสวยงาม ผู้คนทั่วสารทิศ รวมถึงต่างชาติต่างหลั่งไหลมาเยี่ยมเยือน ฤดูนี้เหมาะต่อการท่องเที่ยว ส่วนวันนี้แสงสุดท้ายแห่งวันมาเยือนอีกแล้ว



มองไกลออกไป...ที่เส้นขอบฟ้าบรรจบกับผืนทะเล แสงอาทิตย์ได้สาดฉายแสงสุดท้ายมายังท้องทะเล จากสีเหลืองเริ่มเปลี่ยนเป็นม่วงอมแดง ฉาบทาไปทั้งผืนน้ำและฟากฟ้า ดูเหมือนเศร้าสลดเคล้าน้ำตา แต่สวยงามยามร่าเริง หลับสนิท สุขอารมณ์ ดาวเต็มฟ้า จันทร์ยังกระจ่าง ทางยังส่องสว่าง คืนไม่ยาวนาน แล้ววันใหม่จะมาเยือน …ยิ้ม....ยิ้ม...พร้อมกับโบกมือลาบวกแนวคิดในสมองว่า... เราจะกลับมา... เราจะกลับมา... 


ข้อมูลจำเพราะ

- ปัจจุบันท่าเรือคุระบุรี ครึ้กครื้นผิดกว่าแต่ก่อนมากมาย ถ้ามาถึงเช้าๆ ก็ได้ทำบุญใส่บาตร ส่วนใครมากับบริษัททัวร์ๆ ก็จะจัดอาหารคาวหวาน กาแฟ ไว้ตอนรับ ก่อนไปขึ้นเรือ
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์เป็นสถานที่ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน อยู่ติดชายแดนประเทศเมียร์ม่า ห้างจากฝั่งทะเลด้านตะวันตกของไทยประมาณ 65 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 84,375 ไร่ หรือ 135 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เกาะต่างๆ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี กะกลาง และเกาะไข่ บริเวณใกล้เคียงมีหินแพ และหินกอง ทางด้านตะวันออก ห่างจากเกาะประมาณ 14 กิโลเมตร มีกองหินโผล่น้ำที่เหมาะกับการดำน้ำลึกชมหมู่หินที่ชื่อ ริเชริว